ที่มาและความสำคัญ

ภาคตะวันออกเฉียงเหนือเป็นภาคที่มีพื้นที่การเกษตรกว่า 63 ล้านไร่ มากที่สุดของประเทศ แต่ยังขาดความมั่นคงในเรื่องน้ำ เนื่องจากความไม่สมดุลของการกระจายตัวของฝนและลักษณะภูมิประเทศมีส่วนสำคัญที่ทำให้พื้นที่ภาคอีสานแห้งแล้ง ประสบปัญหาขาดแคลนน้ำ และเกษตรกรต้องพึ่งพาอาศัยน้ำฝนทำการเกษตร นอกจากนั้นในฤดูฝนก็ประสบปัญหาน้ำท่วมโดยเฉพาะพื้นที่ริมขอบแม่น้ำโขง และสองฝั่งลำน้ำชี-มูลตอนกลางของประเทศอย่างเช่นที่เกิดในหลายพื้นที่ในขณะนี้  ที่ผ่านมากรมชลประทาน  กระทรวงเกษตรและสหกรณ์  และหน่วยงานอื่นๆในพื้นที่  ได้พัฒนาแหล่งน้ำตามนโยบายรัฐบาล ผลงานตั้งแต่ปี 2557-2560 พัฒนาแหล่งน้ำในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 1,276 แห่ง มีปริมาณน้ำเก็บกักเพิ่มขึ้น 487 ล้านลูกบาศก์เมตร ได้พื้นที่ชลประทาน 782,973 ไร่ ประมาณร้อยละ 50 ของทั้งประเทศ ซึ่งส่วนใหญ่ เป็นการเพิ่มความจุแหล่งเก็บน้ำเดิมและพัฒนาแหล่งน้ำขนาดเล็กที่ท้องถิ่นต้องการและใช้เวลาสำรวจออกแบบไม่นานนัก เช่น แก้มลิง ฝาย และประตูระบายน้ำเพื่อนำน้ำก่อนไหลลงแม่น้ำโขงมาใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุด และระบบชลประทาน ที่ทำได้โดยไม่กระทบกับสังคมและสิ่งแวดล้อม ซึ่งนับว่าเพิ่มขึ้น 2-3 เท่า จากแผนงานเดิมและกระจายทั่วไปทั้งภาคอีสาน  สำหรับในจังหวัดบุรีรัมย์นั้นมีทั้งปัญหาขาดแคลนน้ำและน้ำท่วม  ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมจังหวัดได้จัดทำแผนงานเพื่อเสนอรัฐบาลผ่าน กนช. พิจารณาแก้ไขและบรรเทาอุทกภัยและขาดแคลนน้ำมีหลายรูปแบบ อาทิ การก่อสร้างประตูระบายน้ำ แก้มลิง และพิจารณาสร้างทางระบายน้ำเพิ่มเติมเป็นต้น นั่นเป็นการแก้ไขปัญหาในเชิงโครงสร้าง  โดยเฉพาะในพื้นที่นอกเขตชลประทานซึ่งภาคตะวันออกเฉียงเหนือนี้มีจำนวนมากถึงร้อยละ 95 นอกจากนั้นเป็นพื้นที่ในเขตชลประทานเพียงร้อยละ 5 ของพื้นที่ทั้งหมด  ดังนั้นจะเห็นได้ว่าพื้นที่นอกเขตชลประทานจะไม่ได้รับความเป็นธรรมในการจัดสรรน้ำโดยรัฐ  และเป็นพื้นที่ถูกปล่อยปะละเลยมาโดยตลอด  แต่อย่างไรก็ตามการจัดทำโครงสร้างการกระจายน้ำจะต้องทำควบคู่ไปกับการพัฒนาคนหรือกลุ่มผู้ใช้น้ำไปด้วย  ถ้าหากผู้ใช้น้ำไม่เข้าใจบทบาทก็จะทำให้โครงสร้างที่มีอยู่ไม่ได้ผลสัมฤทธิ์เต็มที่ตามเป้าหมายที่วางไว้ด้วยเช่นกัน

จากกรอบแนวคิดเรื่องการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำแบบูรณาการ มีองค์ประกอบสำคัญ 3 ด้านคือ 1.ด้านการจัดหาน้ำต้นทุน เน้นการเพิ่มปริมาณน้ำต้นทุน ด้วยการอนุรักษ์ป่าต้นน้ำ การอนุรักษ์ และฟื้นฟูแหล่งน้ำ 2.ด้านการจัดการความต้องการของกลุ่มผู้ใช้น้ำ โดยการปรับลดความต้องการด้วยการปรับรูปแบบประเภทของพืชเพื่อลดปริมาณการใช้น้ำและเพิ่มรายได้ให้แก่เกษตรกร และ 3.ด้านการบริหารจัดการโครงการ ของกลุ่มผู้ใช้น้ำรายย่อย  เน้นเรื่องการปรับรูปแบบการบริหารจัดการ ด้วยการบริหารจัดการโดยเกษตรกรในพื้นที่ ผ่านกระบวนการจัดตั้งองค์กรน้ำบริหารจัดการน้ำ การเสริมศักยภาพองค์กรเพื่อรองรับการบริหารจัดการน้ำระบบใหม่ การจัดตั้งกองทุนน้ำ รวมทั้งการทำ Contract Farming ร่วมกับรัฐท้องถิ่น จากแบบแผนการบริหารจัดการน้ำในเบื้องต้น  ถ้าหากไม่มีกระบวนการจัดเก็บข้อมูลการบริหารจัดการน้ำของรูปแบบการใช้น้ำตามแบบแผนดังเดิมนี้ไว้อย่างเป็นระบบ  ก็จะทำให้การไม่เกิดการเรียนรู้หรือถ่ายทอดไปสู่เยาวชนรุ่นหลัง  เมื่อเวลาผ่านไปก็จะค่อยๆเลือนหายไปตามเวลา 

มหาวิทยาลัยราชภัฏบุรีรัมย์  โดยสถาบันวิจัยและพัฒนาจึงเล็งเห็นความสำคัญของเรื่องนี้  และมีแนวคิดที่จะดำเนินการให้เป็นรูปธรรมโดยจะร่วมกับหลายหน่วยงานในจังหวัดที่เกี่ยวข้องกับการบริหารจัดการน้ำได้แก่  องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น  อำเภอทุกแห่งในจังหวัด  สภาเกษตรกรจังหวัดบุรีรัมย์  ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมจังหวัดบุรีรัมย์(ทสจ.) หน่วยส่งเสริมกิจกรรมเคลื่อนที่(โครงการพระราชดำริ)  โครงการชลประทานจังหวัดบุรีรัมย์ โดยร่วมกันดำเนินการจัดตั้ง สถาบันบริหารจัดการน้ำชุมชน เพื่อเป็นหน่วยประสานงานการทำงานด้านการบริหารจัดการน้ำชุมชนร่วมกับท้องถิ่นชุมชนในพื้นที่นอกเขตชลประทาน  นอกจากนั้นยังเป็นหน่วยพี่เลี้ยงด้านการบริหารจัดการน้ำให้กับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น  พร้อมกับการอบรมให้ความรู้แก่กลุ่มผู้ใช้น้ำ  เพื่อให้กลุ่มผู้ใช้น้ำในชุมชนมีความพร้อมในการดำเนินการบริหารจัดการน้ำ การจัดหาน้ำ  การจัดเก็บน้ำ  การจัดสรรน้ำ  และการบำรุงรักษาน้ำ  ให้มีประสิทธิภาพสูงขึ้นทั้งในเชิงปริมาณและคุณภาพที่เหมาะสมกับมนุษย์และสิ่งแวดล้อมต่อไป

Scroll to Top