ศึกษาดูงานพื้นที่ใช้น้ำในเขตจังหวัดเชียงใหม่ รุ่นที่2

ศึกษาดูงานพื้นที่ใช้น้ำในเขตจังหวัดเชียงใหม่กลุ่มบริหารการใช้น้ำนอกเขตพื้นที่ชลประทานจังหวัดบุรีรัมย์ รุ่นที่ 2 เมือวันที่ 26-29 มิถุนายน 2562 สถาบันบริหารจัดการน้ำชุมชนจังหวัดบุรีรัมย์ได้นำตัวแทนจากกลุ่มบริหารจัดการน้ำชุมชนจังหวัดบุรีรัมย์ เข้าศึกษาดูงานที่จังหวัดเชียงใหม่เพื่อศึกษาระบบการบริหารจัดการน้ำต้นแบบ ระบบการบริหารจัดการน้ำชุมชน รูปแบบการบริหารจัดการน้ำ และการปรับเปลี่ยนการปลูกพืชเพื่อให้เข้ากับบริบทของชุมชน  โดยมีคณะร่วมเดินทางเป็น อาจารย์ และเจ้าหน้าที่ทีมพี่เลี้ยง จากสถาบันจัดการน้ำชุมชน ภายใต้สถาบันวิจัยและพัฒนามหาวิทยาลัยราชภัฏบุรีรัมย์ และตัวแทนจากกลุ่มบริหารจัดการน้ำชุมชนจังหวัดบุรีรัมย์ กลุ่มละ 2-3 คน จำนวน 17 กลุ่ม 9 อำเภอ ได้แก่ 1)กลุ่มบริหารจัดการน้ำสายยาว(ตำบลถลุงเหล็ก) อำเภอลำเมือง  2)กลุ่มบริหารจัดการน้ำตำบลนางรอง อำเภอนางรอง 3)กลุ่มบริหารจัดการน้ำหนองอียอ(ตำบลโคกกลาง) อำเภอลำปลายมาศ 4)กลุ่มบริหารจัดการน้ำหนองกระทุ่ม(ตำบลโคกกลาง) อำเภอลำปลายมาศ 5)กลุ่มบริหารจัดการน้ำตำบลหนองคู อำเภอลำปลายมาศ 6)กลุ่มบริหารจัดการน้ำตำบลโคกล่าม อำเภอลำปลายมาศ 7)กลุ่มบริหารจัดการน้ำตำบลไพศาล อำเภอประโคนชัย 8)กลุ่มบริหารจัดการน้ำตำบลจรเข้มาก อำเภอประโคนชัย 9)กลุ่มบริหารจัดการน้ำตำบลโคกย่าง อำเภอประโคนชัย 10)กลุ่มบริหารจัดการน้ำตำบลปะคำ อำเภอปะคำ 11)กลุ่มบริหารจัดการน้ำตำบลหูทำนบ อำเภอปะคำ 12)กลุ่มบริหารจัดการน้ำตำบลบ้านยาง อำเภอพุทไธสง 13)กลุ่มบริหารจัดการน้ำตำบลมะเฟือง อำเภอพุทไธสง 14)กลุ่มบริหารจัดการน้ำตำบลกระสัง อำเภอสตึก 15)กลุ่มบริหารจัดการน้ำตำบลบ้านด่าน อำเภอบ้านด่าน และ 16)กลุ่มบริหารจัดการน้ำตำบลสามแวง อำเภอห้วยราช

จุดศึกษาที่ 1 อ่างเก็บน้ำแม่ออน คณะผู้มาศึกษาดูงานได้ลงพื้นที่อ่างเก็บน้ำแม่ออน โดยการไปศึกษาเรียนรู้การทำพิธีสืบสานวัฒนธรรมการเลี้ยงผีขุนน้ำ โดยเข้าไปทำพิธีในป่าตามลำธาร ซึ่งเป็นต้นน้ำของอ่างเก็บน้ำแม่ออน โดยเป็นการสร้างความตระหนักในการดูแลรักษาแหล่งน้ำที่ถูกถ่ายทอดมาตั้งแต่บรรพบุรุษ สู่ลูกหลานคนรุ่นหลังได้สืบทอดต่อไป ทั้งนี้ทางกลุ่มบริหารจัดการน้ำจากจังหวัดบุรีรัมย์ ได้เรียนรู้งานกับทางกลุ่มบริหารการใช้น้ำแม่ออน และร่วมแลกเปลี่ยนเรียนรู้ในการบริหารจัดการน้ำที่อำเภอแม่ออน จังหวัดเชียงใหม่

จุดศึกษาที่ 2 ศูนย์ศึกษาห้วยฮ่องไคร้อันเนื่องมาจากพระราชดำริ ทางคณะผู้มาศึกษาดูงานได้เรียนรู้ระบบการบริหารจัดการน้ำและเข้าใจถึงผลกระทบในการตัดไม้ทำลายป่า และให้มีความรู้  เรียนรู้แนวทางการส่งเสริมการเกษตร ส่งเสริมการปลูกพืชสวนไม้ผล พืชสวนอุตสาหกรรม พืชไร่ งานข้าวสาธิต และการเกษตรผสมผสาน อีกทั้งได้เรียนรู้เกี่ยวกับการประมง เป็นการต่อยอดความรู้เพื่อเป็นการนำไปประกอบอาชีพในอนาคตได้อีกด้วย

จุดศึกษาที่ 3 ฝายวังปาน ศึกษาดูงานประตูน้ำในลุ่มน้ำปิงตอนบนส่วนที่ 2-3 คณะผู้ศึกษาดูงานได้ร่วมแลกเปลี่ยนเรียนรู้เรื่องระบบการบริหารจัดการน้ำร่วมกับเจ้าหน้าที่และชาวบ้านในอำเภอเวียงหนองล่องและอำเภอบ้านโฮ่ง จากฝนอดีเมื่อถึงฤดูฝนทำให้มีน้ำมากจนท่วมพื้นที่ของชาวบ้านบริเวณลุ่มน้ำปิง จนเกิดความเสียหายอย่างหนัก และเมื่อถึงฤดูร้อนน้ำแห้งจนสามารถเดินข้ามไปมาได้ และไม่สามารถใช้ประโยชน์จากแหล่งน้ำตรงนี้ได้ จึงมีการก่อสร้างฝายวังปานขึ้นมาเพื่อแก้ปัญหาน้ำท่วมและภัยแล้งของชาวบ้านลุ่มน้ำปิง และเกิดอาชีพใหม่ขึ้นหลังจากมีการก่อสร้างฝายวังปาน ซึ่งสามารถใช้เป็นสถานที่ท่องเที่ยวได้อีกด้วย         

จุดศึกษาที่ 4 สถานีสูบน้ำด้วยพลังไฟฟ้าบ้านห้วยโจ้ – หนองผำ ทางคณะผู้มาศึกษาดูงานได้เรียนรู้ถึงรูปแบบการบริหารจัดการน้ำ และการบริหารจัดการกลุ่ม ตลอดจนเทคนิคกระบวนการในการเสนอโครงการเพื่อของบประมาณสนับสนุนจากหน่วยงานๆ ในการพัฒนาแหล่งน้ำ ตลอดจนระบบการจัดสรรรอบเวรการใช้น้ำ การแบ่งหน้าที่ของคณะกรรมการที่ดูแลในแต่ละด้าน และยังเป็นการแลกเปลี่ยนรู้ในรูปแบบของการจัดการกลุ่ม และแนวทางการแก้ปัญหาต่าง ๆ

ภายหลังจากที่คณะศึกษาดูงานได้ศึกษาเรียนรู้จุดศึกษา แต่ละจุดเรียนรู้แล้วทางกลุ่มบริหารจัดการน้ำสามารถนำแนวคิด กระบวนการต่าง ๆ ที่ได้รับฟังจากการบรรยายและพบเห็นต่าง ๆ เพื่อที่จะสามารถมาประยุกต์ใช้ในพื้นที่ของตนเอง ในลำดับต่อไป

Scroll to Top